Supplierจริงๆแล้วนั้น การวิเคราะห์ธุรกิจหรือสินค้า บริการของเรานั้น สามารถใช้หลักการ หรือวิธีได้หลายรูปแบบในการวิเคราะห์
แต่สำหรับวันนี้ เราจะไปทำความรู้จักกับหลักการวิเคราะห์ที่เรียกว่า Five Forces Model เพื่อให้คุณผู้อ่าน สามารถนำพื้นฐานทฤษฎีนี้ไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองได้
Five Forces Model คืออะไร?
Five Forces Model คือ เครื่องมือวิเคราะห์ที่ช่วยให้ธุรกิจของคุณอยู่รอดได้ในตลาดอย่างยั่งยืน ลดโอกาสที่คู่แข่งจะสามารถเข้ามาแข่งขันกับคุณได้ ซึ่งเป็นเครื่องมือพื้นฐานทางธุรกิจที่ทั่วโลกยอมรับ ถูกสร้างและคิดค้นโดย Michael Porter ศาสตราจารย์ที่ Harvard Business School ซึ่งหลักการวิเคราะห์นี้ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายและสอนในหลายโรงเรียนทั่วโลกมานานกว่า 30 ปี ใช้สำหรับวิเคราะห์สภาพตลาด และอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้นๆ อยู่แล้ว หรือ เป็นธุรกิจใหม่ที่กำลังจะกระโดดไปเล่นก็สามารถนำไปใช้ได้ เพราะ Five Forces จะช่วยให้คุณมองลึกกว่าแค่ สินค้า คู่แข่ง หรือ ลูกค้า วิธีนี้ช่วยในการประเมินโครงสร้างธุรกิจและอุตสาหกรรม และนำไปสู่การสร้างกลยุทธ์การแข่งขันที่ช่วยเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจได้ต่อไปอย่างมั่นคงนั่นเอง
Five Forces Model มีอะไรบ้าง และสามารถนำไปวิเคราะห์ได้อย่างไร?
Five Forces Model ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ประกอบไปด้วยแรงกดดันทั้ง 5 อย่าง ที่มีผลต่อสภาวะแวดล้อมในการแข่งขัน ดังนี้
Rivalry Among Existing Competitors คือ การแข่งขันในอุตสาหกรรมเดียวกัน : สามารถแบ่งออกเป็น 2 เรื่องหลักๆ นั่นก็คือ เรื่องการแข่งขันระหว่างคู่แข่ง และเรื่องดึงลูกค้าจากคู่แข่งมาหาตนเอง หากสินค้าของคุณดีกว่า ราคาถูกกว่า แต่ ลูกค้าในตลาดนี้มี Brand Loyalty ต่อแบรนด์เดิมสูงมาก ไม่อยากเสียเวลาไปทำความรู้จัก หรือทดลองใช้แบรนด์ใหม่ (Switching Cost สูง) ก็อาจเป็นการยากที่จะดึงลูกค้ามาทดลองใช้แบรนด์ของคุณ
Bargaining Power of Customers คือ อำนาจต่อรองจากลูกค้า : สำหรับธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ราคามีผลต่อการตัดสินใจซื้อมาก หมายความว่า เมื่อคู่แข่งลดราคานิดเดียว ลูกค้าก็พร้อมจะเปลี่ยนไปใช้ของคู่แข่งเลย แบบนี้ถือว่าลูกค้ามี Bargaining Power ที่สูง และ Price Sensitive มาก เพราะ หากคุณอยากจะดึงลูกค้ากลับ คุณอาจจะต้องลดลาคาตัดคู่แข่ง แต่หากเรายอมลดราคารายได้ก็ลดลง หรือหากเพิ่มคุณภาพสินค้าต้นทุนก็สูงขึ้นด้วย ซึ่งปัจจัยทั้ง 2 ล้วนส่งผลให้กำไรที่จะได้รับลดลงไปทั้งสิ้น ยิ่งธุรกิจที่มีความสนใจจากกลุ่มลูกค้าน้อยอยู่แล้วยิ่งจะทำให้ลูกค้ามีอำนาจต่อรองมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นผู้ประกอบการอาจจะแก้ไขสถานการณ์ด้วยการรวมกลุ่มเพื่อกำหนดราคาขั้นต่ำ หรือการสร้างแบรนด์สินค้าให้แข็งแกร่งหรือสร้างความแตกต่าง
Bargaining Power of Suppliers คือ อำนาจการต่อรองของคู่ค้า หรือ Suppliers : หากในตลาดที่คุณอยู่ มี Supplier เพียงไม่กี่เจ้า แต่ละเจ้ามีความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว ในขณะที่มีผู้เล่นในตลาดนี้อย่างน้อย 10 เจ้าขึ้นไป แบบนี้อำนาจในการต่อรองของ Suppliers ก็จะสูงมาก หากราคาขายไม่สามารถขยับขึ้นได้ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจอยู่ในสภาวะเสี่ยงสูงขึ้น ฉะนั้นเราควรรวมกลุ่มในธุรกิจที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันเพื่อต่อรองกับซัพพลายเออร์ หรืออาจรวมกลุ่มกันเพื่อซื้อสินค้าทีละมากๆเพื่อให้ราคาของวัตถุดิบถูกลง หรือหา Supplier ใหม่ เพื่อสลับกันใช้บริการ
Threat of Substitutes คือ การคุกคามจากสินค้าทดแทน : สินค้าทดแทน คือ หากไม่มีสินค้าของเรา ลูกค้าก็สามารถไปเลือกใช้สินค้าอื่นแทนได้เช่นกัน โดยคุณต้องพิจารณาดูว่าสินค้าที่ใช้ทดแทนได้ในตลาดนั้นมีเยอะหรือไม่ ลูกค้ามีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปใช้สินค้าอื่นทดแทนแค่ไหน ราคาสินค้าทดแทนเทียบกับสินค้าของเราเป็นอย่างไร
Threat of New Entrants คือ การเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ : การเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการหน้าใหม่ย่อมหมายถึงการมีคู่แข่งทางการค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดที่เราเคยได้รับลดน้อยลงไป ธุรกิจขนาดใหญ่อาจไม่กังวลมากเพราะมีกำลังผลิตมาก วัตถุดิบราคาถูก แต่สำหรับกิจการขนาดเล็กก็ต้องเตรียมรับมือให้ดี อาจจะใช้การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าโดยตรง หรือทำให้ลูกค้าพึงพอใจให้กลายมาเป็นฐานลูกค้าที่เหนียวแน่นและมั่นคง
และนี่ก็คือ หลักการวิเคราะห์ Five Forces Model ที่นำมาฝากกัน เพื่อให้คุณผู้อ่านได้ลองนำปัจจัยเหล่านี้ ไปวิเคราะห์การแก้ปัญหาหรือรับมือสำหรับธุรกิจและบริการของคุณต่อได้
ขอบคุณภาพประกอบ : Freepick
Flare Dash แอปพลิเคชันบันทึกเวลาทำงานของพนักงาน และติดตามเส้นทางด้วย GPS ผ่านสมาร์ทโฟน
หากสนใจ คลิกที่ลิงค์ด้านล่างเพื่อติดต่อเราพร้อมรับสิทธิทดลองฟรี 14 วัน